รักษาการอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ มอบนโยบายและสร้างความเข้าใจและการขับเคลื่อนการดำเนินงานกรมส่งเสริมการเรียนรู้ภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566
วันที่ 6 กันยายน 2566 นายชัยธวัฒน์ กีระนันทน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดสระบุรี ร่วมการประชุมการประชุมมอบนโยบายผู้บริหารกรมส่งเสริมการเรียนรู้ โดยมี ว่าที่เรือตรีชูชีพ อรุณเหลือง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริม การเรียนรู้ เป็นประธานในการประชุมการประชุมมอบนโยบายผู้บริหารกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งมี นางสาว ทรงศรี วิระรังษิยากรณ์ นายปรเมศวร์ ศิริรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ร่วมรับฟังข้อคิดเห็นและให้ข้อแสนอแนะแนวทางการดำเนินงาน ซึ่งการประชุมดังกล่าวมีคณะผู้บริหาร ผู้อำนวยการกลุ่ม/ศูนย์ ส่วนกลาง, ผู้อำนวยการสถานศึกษาขึ้นตรง ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัด/กทม. เข้าร่วม ณ ห้องประชุมนวมินทราชินูทิศ 1 อาคาร 5 ชั้น 2 โรงเรียนมัธยมวัดมกุฏกษัตริย์
ว่าที่เรือตรีชูชีพ อรุณเหลือง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริม การเรียนรู้ กล่าวว่า สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติกรมส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 ได้กำหนดให้กรมส่งเสริมการเรียนรู้ มีหน้าที่จัด ส่งเสริม และสนับสนุนการเรียนรู้ 3 รูปแบบ คือ 1) การเรียนรู้ตลอดชีวิต 2) การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง และ3) การเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ โดยคำนึงถึงความหลากหลายและความต้องการของผู้เรียน และเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยมีโอกาสเรียนรู้และเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งการส่งเสริมการเรียนรู้ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ มุ่งพัฒนาบุคคลให้มีทักษะการเรียนรู้ ทักษะอาชีพ และทักษะชีวิตที่สอดคล้องและเท่าทันพัฒนาการของโลก มีโอกาสพัฒนาหรือเพิ่มพูนทักษะของตนให้สูงขึ้นหรือปรับเปลี่ยนทักษะของตนตามความถนัดหรือความจำเป็น ผ่านการมีส่วนร่วมของ 3 เสาหลัก ได้แก่ รัฐ เอกชน และท้องถิ่น นอกจากนี้การขับเคลื่อนการดำเนินงานกรมส่งเสริมการเรียนรู้ภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 โดยเฉพาะแนวทางการส่งเสริมการเรียนรู้ ตามมาตรา 6 ส่งเสริม และสนับสนุนการเรียนรู้ ใน 3 รูปแบบ ข้างต้นนั้น ต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกเป็นสำคัญ ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อผู้เรียน จะทำอย่างไรให้การเรียนรู้ตลอดชีวิต ทำให้คนทุกช่วงวัยเข้าถึงการเรียนรู้ ต้องทำให้มีมาตรฐาน ผู้เรียนสามารถเข้าเรียนได้ตลอดเวลา และสามารถเก็บสะสมจำนวนชั่วโมงได้ จึงจำเป็นต้องพัฒนาวิธีการจัดการศึกษาให้รวดเร็วขึ้น และ Credit Bank ซึ่งเป็นการสะสมหน่วยการเรียนรู้ เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนและทำงานในเวลาเดียวกัน ยังสามารถนำผลการเรียนรู้ จากประสบการณ์การทำงาน อาชีพ รวมถึงการฝึกอบรม ทั้งในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยที่สะสมไว้มาเทียบโอนได้ โดยผู้เรียนสามารถเรียนจากศูนย์การเรียนที่ไหนก็ได้ และได้ผลการเรียนรู้สะสม ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนมีความรู้กว้างขวางขึ้นมีโอกาสเข้าถึงการศึกษา ไม่เลือกชั้นวรรณะ โดยจัดการศึกษาให้เหมาะสมกับอายุและความสามารถ ให้มีงานทำ ดำรงชีวิตได้ ขณะเดียวกันในด้านของผู้สูงอายุซึ่งผู้สูงอายุทั่วประเทศที่มีอยู่ขณะนี้จะมีจำนวนประมาณ 18 ล้านคน แม้จะเป็นจำนวนที่ลดลง แต่ในด้านการจัดการศึกษาเกี่ยวกับผู้สูงอายุ จำเป็นต้องมาดูว่าจะมีวิธีการจัดการศึกษาอย่างไร อีกทั้งการมีงานทำ เพื่อเป็นการช่วยลดปัญหา และลดภาระของสังคมได้อีกทางหนึ่งด้วย
ว่าที่เรือตรีชูชีพ ได้กล่าวเพิ่มเติมและเน้นย้ำว่า “ขณะนี้โลกมีการเปลี่ยนแปลง การศึกษาต้องเข้าถึงทุกคนการศึกษาต้องเข้าถึงทุกคน จะใช้รูปแบบเดิมไม่ได้ ความเหลื่อมล้ำยังมีอยู่ จะลดความเหลื่อมล้ำได้ต้องใช้เทคโนโลยีมาพัฒนาการศึกษาให้สูงขึ้น ตนอยากให้กระจายเรื่องเทคโนโลยีไปทุกจังหวัด โดยให้ทุก สกร.จังหวัดส่งข้อมูลการเข้าถึงเทคโนโลยีมาที่ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา เพื่อรวบรวม และพัฒนาให้ทุกจังหวัดเท่าเทียมกัน” และเรื่องสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ต้องมีการพัฒนาทักษะชีวิต เพื่อการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น มีความเข้มแข็งดำรงชีวิตอยู่ได้ มีวินัยและ มีความรับผิดชอบ พร้อมเสนอแนะการทำงานให้แก่ผู้บริหารกรมส่งเสริมการเรียนรู้ โดยชูประเด็น Copy Development โดยนำแนวทางวิธีการพัฒนาจากหน่วยงานอื่น นำมาปรับใช้ พัฒนา ให้สอดคล้องกับบริบทของหน่วยงานตนเอง นอกจากนี้ยังได้กล่าวว่าตนเองความจริงใจในการทำงาน และพร้อมจะขับเคลื่อนขับเคลื่อนงานกรมส่งเสริมการเรียนรู้ และพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 ให้มีความก้าวหน้า นำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป