การจัดตั้งศูนย์อำนวยการช่วยเหลือประชาชน (กศน.ช่วยประชาชน) และกิจกรรม กศน. จิตอาสา ซ่อม สร้าง ล้างใหม่ ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม
วันที่ 7 ตุลาคม 2565 นางสาวฤทัย สามารถ ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัดสระบุรี เข้าร่วมประชุมการจัดตั้งศูนย์อำนวยการช่วยเหลือประชาชน (กศน.ช่วยประชาชน) และกิจกรรม กศน. จิตอาสา ซ่อม สร้าง ล้างใหม่ ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม ผ่านโปรแกรม Zoom โดยในการประชุมครั้งนี้
นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวแสดงความห่วงใยผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ผ่านการประชุมการจัดตั้งศูนย์อำนวยการช่วยเหลือประชาชน (กศน.ช่วยเหลือประชาชน) และกิจกรรม “กศน. จิตอาสา ซ่อม สร้าง ล้างใหม่ ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม” ผ่านระบบ Zoom Cloud Meetings และการถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live ว่า ตนขอแสดงความห่วงใยกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในครั้งนี้ ส่งผลให้ประเทศไทยเกิดสถานการณ์น้ำท่วมขึ้นในหลายพื้นที่ ทำให้มีความกังวลกับความปลอดภัยของนักเรียน นักศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษา และประชาชนทั่วไป จากการคาดการณ์สภาพอากาศของ กรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในช่วงวันที่ 3 – 9 ตุลาคม 2565 ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ ได้แก่ บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทำให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัด โดยมีหน่วยงาน สถานศึกษา และชุมชนได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้รับรายงานจากสถานศึกษา จำนวน 5,360 แห่ง พบว่า มีพื้นที่น้ำท่วม จำนวน 838 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 16 ของสถานศึกษา ที่ได้รับการรายงาน มีนักเรียนได้รับผลกระทบ จำนวน 104,018 คน ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับผลกระทบ จำนวน 7,961 คน จังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ศรีสะเกษ นครสวรรค์ ชัยภูมิ พระนครศรีอยุธยา และอุบลราชธานี
สำนักงาน กศน. มีหน่วยงาน สถานศึกษาในสังกัดที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย จำนวน 16 แห่ง ใน 11 จังหวัด ได้แก่ 1) อุบลราชธานี กศน. อำเภอสิรินธร อำเภอเขมราฐ และ กศน. อำเภอโขงเจียม 2) สตูล กศน. อำเภอทุ่งหว้า 3) อ่างทอง กศน. อำเภอป่าโมก 4) สกลนคร กศน. อำเภอพรรณานิคม 5) ปทุมธานี กศน. อำเภอสามโคก 6) นครนายก กศน. อำเภอองครักษ์ 7) ระนอง สำนักงาน กศน. จังหวัดระนอง และ กศน. อำเภอเมืองระนอง ชัยภูมิ กศน. อำเภอคอนสาร 9) ศรีสะเกษ กศน. อำเภอราศีไศล 10) บุรีรัมย์ กศน. อำเภอพลับพลาชัย และอำเภอโนนดินแดง และ 11) อุตรดิตถ์ กศน. อำเภอตรอน และ กศน. อำเภอบ้านโคก
สำนักงาน กศน. เห็นความสำคัญของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน และความเสียหายจากอุทกภัยในด้านทรัพย์สิน ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต และขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น จึงได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการช่วยเหลือประชาชน (กศน. ช่วยเหลือประชาชน) เพื่อจัดกิจกรรม “กศน. จิตอาสา ซ่อม สร้าง ล้างใหม่ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม” โดยมีที่ทำการ ณ สำนักงาน กศน. จังหวัดทุกแห่ง/กทม.
รวม 77 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งมีการจัดตั้งโรงครัว ล้างทำความสะอาด และซ่อมแซมบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประสบภัย
ทั้งนี้ ในระยะแรก ให้สถานศึกษาสำรวจความเสียหายที่เกิดจากอุทกภัยในแต่ละพื้นที่ รับบริจาคสิ่งของ ตั้งโรงครัว เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย และให้ลูกเสือจิตอาสาพระราชทาน ยุวกาชาด กศน. และนักศึกษา กศน. ทำกิจกรรมจิตอาสา ล้างทำความสะอาดและซ่อมแซมบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายในพื้นที่ และระยะที่สอง ให้หน่วยงาน สถานศึกษาสำรวจความต้องการด้านอาชีพในพื้นที่จังหวัดที่ได้รับความเสียหาย เพื่อจัดหลักสูตรอาชีพระยะสั้นที่สามารถสร้างรายได้ และช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากการขาดรายได้ของผู้ประสบอุทกภัย ให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติต่อไป และขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วม โรคที่มากับน้ำ อุบัติเหตุจากการขับขี่ยานพาหนะ อุปกรณ์ไฟฟ้าชำรุด และสัตว์มีพิษที่มากับน้ำ หากประชาชนท่านใดที่ได้รับความเดือดร้อน สามารถติดต่อไปยัง ศูนย์อำนวยการช่วยเหลือประชาชน (กศน. ช่วยเหลือประชาชน) ณ สำนักงาน กศน. จังหวัดทุกแห่ง/ กทม. ทั่วประเทศ นางสาวตรีนุช กล่าว
นายวัลลพ สงวนนาม เลขาธิการ กศน. กล่าวว่า ตนขอแสดงความห่วงใยกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย พร้อมกำชับสถานศึกษาในพื้นที่ให้การช่วยเหลือ ดูแล ครู นักศึกษา และประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ และขอให้ทุก ๆ สถานศึกษาร่วมแรงร่วมใจช่วยเหลือจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น
ด้านนายปรเมศวร์ ศิริรัตน์ รองเลขาธิการ กศน. กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายจากเลขาธิการ กศน. ให้ดูแลภารกิจของศูนย์อำนวยการช่วยเหลือประชาชน (กศน.ช่วยเหลือประชาชน) พร้อมชี้แจงแนวทาง การบริหารศูนย์อำนวยการช่วยเหลือประชาชน (กศน.ช่วยเหลือประชาชน) ว่า กรณีน้ำท่วมทั้งจังหวัด มอบหมายให้ประธานกลุ่มศูนย์จังหวัด เป็นประธานศูนย์อำนวยการช่วยเหลือประชาชน กรณีน้ำท่วมบางอำเภอของจังหวัด มอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัด เป็นประธานศูนย์อำนวยการช่วยเหลือประชาชน และหากสำนักงาน กศน.จังหวัดใดไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ให้ตั้งศูนย์ “เพื่อนช่วยเพื่อน” เพื่อรับบริจาคเงิน สิ่งของ ที่จำเป็นต่าง ๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และนำไปมอบแก่ผู้ได้รับผลกระทบ
นอกจากนี้ สำนักงาน กศน. ยังจัดกิจกรรม “กศน.จิตอาสา ซ่อมสร้าง ล้างใหม่ ช่วยผู้ประสบภัย น้ำท่วม” เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยนำ กศน.จิตอาสา 904 ลูกเสือจิตอาสา กศน. อาสายุวกาชาด กศน. และบุคลากร กศน. ช่วยเหลือประชาชนหลังน้ำลด เพื่อฟื้นฟู ล้างทำความสะอาดสถานที่และบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย บริการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องยนต์ขนาดเล็ก นายปรเมศวร์ กล่าวในที่สุด